สินค้าขาดหรือเกินจากสต็อก

 

ในการตรวจนับสินค้าหรือวัตถุดิบ นิยมตรวจนับอยู่ 4 วิธี คือ

1. ตรวจนับ 100%

            นิยมตรวจนับไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 6 เดือน จะเริ่มนับวันใดก็ได้แต่ละครั้งห่างกัน 6 เดือน เป็นวิธีที่นิยมกันแพร่หลาย

2. ตรวจนับแบบเลือกสรร

            วิธีนี้จะนำเอาระบบ ABC มาแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม แล้วให้ความสำคัญของสินค้าในการตรวจนับแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน เช่น กลุ่ม A ตรวจนับทุกวัน กลุ่ม B ตรวจนับปีละ 2 ครั้ง กลุ่ม C ตรวจนับปีละครั้ง หรือจะตรวจนับเฉพาะสินค้าที่มีการเคลื่อนไหว

3. ทยอยนับทั้งปี

            วิธีนี้จะนำสินค้ามาแบ่งการตรวจนับออกเป็นเดือน ในแต่ละเดือนจะมีการตรวจนับสินค้าจำนวนหนึ่ง และเดือนต่อไปก็จะมีการตรวจนับสินค้าใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ตรวจนับไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี มีข้อเสียคือ จะต้องมีการตรวจนับสินค้าตลอดทั้งปี

4. ตรวจนับแบบฉับพลัน

            จะตรวจนับสินค้าเมื่อมีข้อสงสัยว่าสินค้าันั้นมีเพียงพอหรือไม่ หรือสินค้านั้นสูญหาย ถูำกขโมย จะทำการตรวจนับแบบฉับพลันทันที ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการตรวจนับเอาไว้

             เมื่อกิจการได้มีการตรวจนับสินค้า มักจะมีปัญหาตามมาก็คือ สินค้าบางประเภทขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ บางประเภทเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

1. สินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

            หมายความว่า ปริมาณสินค้าที่ตรวจนับต่ำกว่ารายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเิพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจพบ และจะต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากมูลค่าของฐานภาษีตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ตรวจพบ กล่าวโดยสรุป เมื่อสินค้าขาดจากสต็อกจะต้องปฏิบัติ ดังนี้

            1.1 จะต้องเสียภาษีขาย ด้วยราคาตลาดของสินค้า ณ วันที่ตรวจพบ

            1.2 จะต้องเสียเบี้ยปรับเป็น 2 เท่าของภาษีที่ต้องเสีย

            1.3 นำ "รายงานการตรวจนับสินค้า" เป็นหลักฐานในการตัดปริมาณสินค้าที่ขาดออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

2. สินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

            หมายความว่า ปริมาณสินค้าที่ตรวจนับสูงกว่ารายงานสินค้าและวัตถุดิบ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท  โดยสรุปแนวปฏิบัติได้ ดังนี้

            2.1 จะต้องเสียเบี้ยปรับไม่เกิน 2,000 บาท

            2.2 นำ "รายงานการตรวจนับสินค้า" เป็นหลักฐานในการเพิ่มปริมาณสินค้าที่เกินเข้าไปในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

            2.3 สินค้าที่เกิน เมื่อนำออกขาย ความรับผิดในการเสียภาษีขาย เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า


Visitors: 77,965